ประวัติโรงงานเภสัชกรรมทหาร
ในช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2484 – 2488 ประเทศไทยได้ประสบปัญหาขาดแคลนยาและเวชภัณฑ์ จากวิกฤติการณ์ในครั้งนั้นเป็นผลให้ทางราชการมีนโยบายให้หน่วยแพทย์ของสามเหล่าทัพดำเนินการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยให้ทุกเหล่าทัพผลิตยาขึ้นใช้ภายในหน่วยของตนเอง เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง กองทัพไทยได้รับความช่วยเหลือจากสหรัฐอเมริกา โดยการส่งที่ปรึกษาทางการแพทย์มาประจำหน่วยแพทย์ทั้ง 3 เหล่าทัพ ที่ปรึกษาประจำกรมแพทย์ทหารบก คือ
พันโท ปอล เอฟ ออสติน ซึ่งเป็นเภสัชกร ได้เสนอแนะกระทรวงกลาโหม ให้ผลิตยาและจัดหายารวมทั้งเวชภัณฑ์ของเหล่าทัพไว้ด้วยกัน เพื่อให้การผลิตยาของกองทัพมีประสิทธิภาพ และเป็นการประหยัด โดยเสนอแนะให้จัดตั้งหน่วยสิ่งอุปกรณ์การแพทย์และผลิตภัณฑ์ร่วม( Joint Medical Supply and Pharmaceutical Manufacturing Agency ) กระทรวงกลาโหมได้เห็นพ้องกับข้อเสนอแนะของจัสแม็ก ได้ออกคำสั่งกระทรวงกลาโหม (เฉพาะ) ที่ 13/5162 ลง 7 มีนาคม 2503 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการการพิจารณาการซื้อและผลิตยาของกองทัพไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การซื้อและผลิตยาของกองทัพไทยได้ดำเนินไปโดยรัดกุม เหมาะสม ประหยัดและมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น
ในปี พ.ศ. 2504 ที่ประชุมสภากลาโหมได้อนุมัติให้จัดตั้งโรงงานเภสัชกรรมทหาร ตามคำสั่ง กห (เฉพาะ) ที่ 36/6741 ลง 5 เมษายน 2504 เรื่อง แก้อัตราเจ้าหน้าที่กระทรวงกลาโหมให้เป็นหน่วยขึ้นตรงของกรมการอุตสาหกรรมทหาร สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม และให้เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ความชำนาญให้กับบุคลากรในยามปกติและให้เป็นคลังสำรองระดมยาและเวชภัณฑ์ยามฉุกเฉิน แต่การบริหารงานระยะแรกยังไม่สามารถดำเนินการผลิตยาได้ทันที เพราะมีความจำเป็นเกี่ยวกับการสร้างอาคาร การโอนกำลังพลและเครื่องจักรมาจากสามเหล่าทัพ
ปี 2529 กระทรวงกลาโหม ได้มีคำสั่ง กห (เฉพาะ) ที่ 114/2529 ลง 5 กรกฎาคม 2529 เรื่อง ให้โอนโรงงานเภสัชกรรมทหารไปเป็นส่วนราชการขึ้นตรงศูนย์อำนวยการแพทย์พระมงกุฎเกล้า กรมแพทย์ทหารบก
ปี 2531 กระทรวงกลาโหม ได้มีคำสั่ง กห (เฉพาะ) ที่ 45/31 ลง 5 เมษายน 2531 เรื่องแก้อัตราเฉพาะกิจ ให้โรงงานเภสัชกรรมทหารเป็นหน่วยขึ้นตรงต่อกรมแพทย์ทหารบก
ปี 2537 ให้โอนโรงงานเภสัชกรรมทหาร ไปเป็นส่วนราชการขึ้นตรงต่อศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมตามคำสั่ง กห (เฉพาะ) ที่ 208/37 ลง 31 ตุลาคม 2537 ทั้งนี้ตั้งแต่ 2 ตุลาคม 2537 เป็นต้นไป
สถิติผู้เข้าเว็บไซต์หน้านี้